นี่เป็นคำถามที่ทุกคนต้องเจอ เมื่อกระโดดเข้าสู่ธุรกิจขายสินค้าบน Amazon หลายคนเลือกที่จะเริ่มทำเลยโดยไม่ได้สนใจหาข้อมูล สุดท้ายก็เจ็บช้ำกลับออกมาโดยหมอไม่รับเย็บ
1.ก่อนอื่นขอสรุปสั้นๆก่อนว่า FBA คืออะไร
FBA ย่อมาจาก Fulfillment By Amazon หมายถึง การส่งสินค้าไปสต็อคไว้ที่ Amazon ก่อน หลังจากมีออเดอร์จากลูกค้า Amazon จะเป็นผู้จัดการ แพ็ค ส่ง และคุยกับลูกค้าให้
2.แล้วมันมีข้อดีอะไรบ้างหรอ?
==> Amazon จะแพ็ค ส่ง และจัดการเรื่องการคืนสินค้าให้
ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของการทำ FBA เลยก็ได้ ซึ่ง Amazon มีพนักงานเป็นพันๆและเครื่องจักรจำนวนมากที่จะจัดการแทนเรา ทันทีที่มีออเดอร์จากลูกค้า สินค้าจะถูกแพ็คและส่งออกจากโกดัง Amazon หากลูกค้าต้องการคืนสินค้า ทาง Amazon ก็จะมีพนักงานคอยจัดการให้เช่นกัน
==> Amazon มีโกดังจัดเก็บจำนวนมาก
ผู้ขายไม่ต้องปวดหัวว่าจะเอาของไปเก็บไว้ที่ไหน เพราะแค่ของในบ้านก็เต็มอยู่แล้ว หากต้องเจอกับช่วงเทศกาลสำคัญเช่นช่วงปลายปีอีก ยิ่งต้องคิดหนักเลย แต่ด้วย FBA ก็แค่ส่งไปที่โกดัง Amazon ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ขนาดใหญ่หลายๆเท่าของสนามฟุตบอล ไม่ต้องกลัวว่าจะเต็ม แต่ แต่ .. ก็ต้องวางแผนให้ดี เพราะช่วง High Season อาจจะเต็มก็ได้ ดังนั้นควรเช็คสต็อคตัวเองให้ดี หากสินค้าขาดจากสต็อค ก็ควรส่งไปเติมให้ทัน
==> สินค้าจะมีสถานะ Prime หากส่งด้วย FBA
คุณอาจจะไม่รู้ว่าผู้ซื้อมากกว่าครึ่งเป็นสมาชิก Prime (ผมก็เช่นกัน) ผู้ซึ้อเหล่านี้เมื่อเข้า Amazon และเมื่อจะคลิกซื้อ เขาจะดูก่อนเลยว่ามีคำว่า Prime ไหม หากมีและราคาโอเค เขาก็พร้อมจะซื้อเพื่อให้ของมาถึงบ้านในวันรุ่งขึ้น (Prime Shipping) คนจำนวนมากตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล และอยากได้ของเร็วๆ ดังนั้นหากส่ง FBA แล้ว สินค้าของคุณก็มีโอกาสสูงมากที่จะโดนซื้อไปโดยสมาชิก Prime และที่สำคัญอีกอย่าง สินค้า Prime จะขึ้นหน้าแรกๆเมื่อมีการค้นหาโดยผู้ซื้อในคีย์เวิร์ดนั้นๆ
==> มีโอกาสชนะ Buybox สูง
หากกรณีสินค้าบางอย่างมีผู้ขายหลายราย ผู้ขายที่ชนะ Buybox จะเป็นผู้ที่ได้รับออเดอรืไปหากมีการซื้อเข้ามาจากลูกค้า หากผู้ขายตั้งราคาเท่ากันแล้ว โอกาสที่สินค้า FBA จะชนะ Buybox ก็จะมีมากกว่า พูดง่ายๆคือโอกาสขายได้มากกว่านั่นเอง และหากพูดถึง Buybox จริงๆมันมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวกับ Buybox โดยปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่นำมาคำนวนคือการส่ง หากใครที่มีการจัดส่งแบบ Prime Shipping แล้วก็จะยิ่งส่งเสริมให้มีโอกาสชนะ Buybox สูง
==> สามารถส่งแบบ Multi-channel fulfillment ได้
ผมเคยเขียนไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ อาจจะลองย้อนไปอ่านดูครับ และหากสรุปสั้นให้อีกทีคือ เราสามารถส่งสินค้าที่สต็อคที่โกดัง Amazon ไปให้ลูกค้าที่อยู่ด้านนอก Amazon ได้ เช่น eBay, Etsy, เว็บตัวเองหรืออื่นๆ ส่งไปเก็บที่เดียว ขายได้ทุกที่ เหมาะกับคนที่ขายหลายๆที่
==> ทำงานที่ไหนก็ได้
อันนี้เป็นส่วนที่หลายคนชอบ ผมก็ชอบเช่นกัน เพราะเมื่อเราเตรียมสินค้าไปโกดัง Amazon เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือก็แค่ทำการตลาด ปรับคีย์เวิร์ดให้สินค้าขายได้ ที่เหลือ Amazon จัดการให้หมดเลย บางคนเลือกทำงานไปเที่ยวไป มีแค่คอมเครื่องเดียวกับอินเตอร์เน็ตก็ทำงานได้แล้ว
3.แล้วมันมีข้อเสียอะไรบ้างหรอ?
==>ต้องเตรียมสินค้าเพื่อส่งไปโกดัง Amazon
อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยต้องแพ็คและติดสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดสินค้าแต่ละชิ้น แพ็คและส่งไปยังโกดัง Amazon ข้อดีของมันคืออาจจะไม่ต้องทำบ่อย แค่คอยทำเพื่อเติมไม่ให้สินค้าขาดสต็อคก็พอ ซึ่งบางคนทำแค่เดือนละครั้ง แต่ขั้นตอนพวกนี้ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง หากมีอะไรผิดพลาด Amazon อาจจะไม่รับสินค้าของคุณ ถึงแม้สินค้าจะถูกส่งไปถึงโกดังแล้วก็ตาม
==> ต้องจ่ายค่าจัดเก็บที่โกดัง (Storage fees)
ค่าจัดเก็บ เป็นส่วนที่ Amazon จะเรียกเก็บจากผู้ขายเมื่อนำสินค้าไปสต็อคไว้ที่โกดัง ค่าการจัดเก็บก็ขึ้นกับขนาดและน้ำหนักของสินค้านั้นๆ เนื่องจากมีค่าจัดเก็บตรงนี้ทำให้ผู้ขายต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าจะส่งไปเก็บเท่าไหร่ดี หากส่งไปเยอะเกินก็อาจจะไม่คุ้มค่าจัดเก็บ หรือหากส่งไปน้อยเกิน เมื่อขาดสต็อคอันดับสินค้าก็จะร่วงตามไปด้วย เป็นสิ่งที่ผู้ขายต้องจัดการให้ดี
==> ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพง
ในเมื่อเราต้องการความสะดวกสบาย ก็ต้องยอมจ่ายแพงสักหน่อย เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้หากจะทำ FBA พูดง่ายๆคือจ่ายเงินให้คนอื่นทำงานแทนนั่นเอง ส่งผลให้สินค้าที่สร้างกำไรได้น้อยอาจจะไม่เหมาะกับการทำ FBA เพราะอาจจะไม่คุ้มกับค่าธรรมเนียมที่แพง ดังนั้นก่อนจะทำ FBA ผู้ขายจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างรายจ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆดีๆ
==> เมื่อมีการคืนสินค้า จะไม่สามารถเช็คของได้เอง
เพราะ Amazon จัดการเรื่องการคืนสินค้าให้ ดังนั้นเราจะไม่สามารถเช็คของได้ทันทีว่าปัญหาเกิดจากสินค้าตรงไหน จริงตามที่ลูกค้าแจ้งหรือไม่ บางครั้งไม่ใช่ความผิดพลาดของสินค้าแต่ก็โดนรีวิวไม่ดีจากลูกค้าซะแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผู้ขายทำได้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาตรงนี้ก็คือ เช็คสินค้าและแพ็คให้ดีที่สุดก่อนส่งไปโกดัง เพราะเมื่อส่งไปแล้วเกิดแตกหัก หรือพังระหว่างขนส่ง เมื่อสินค้าส่งไปยังลูกค้าก็อาจจะเกิดปัญหาได้
==> การเติมสินค้าไปยังโกดัง ต้องใช้เวลา
หากผู้ขายเลือกใช้การขนส่งที่ช้าและไม่ได้วางแผนการจัดส่งให้ดีแล้ว สินค้าอาจจะส่งไปโกดัง Amazon ไม่ทันการ สินค้าขาดสต็อค ซึ่งส่งผลเสียเป็นอย่างมาก จากสินค้าที่เคยขายดี อาจจะขายไม่ได้อีกเลยก็ได้ ควรเช็คให้ดีว่าสินค้าขายได้เป็นยังไง เช่นมีสินค้าในโกดัง 30 ชิ้น หากขายได้วันละ 1 ชิ้น ในอีก 30 วันสินค้าก็จะหมดพอดี ดังนั้นก็ควรจะส่งไปเติมก่อนแต่เนิ่นๆ 15 วันหรือ 1 เดือนก่อนหน้าก็ว่ากันไปตามความเร็วการจัดส่ง
4.สรุปควรทำไหม?
หากอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ลองอ่านอีกรอบแล้วก็วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของ FBA ว่ามันเหมาะกับธุรกิจของเราไหม ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจคุณขาดพนักงานในการแพ็คของส่งในแต่ละวัน การเลือกส่ง FBA ก็อาจจะเหมาะกว่า หรือสินค้าคุณเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ก็อาจจะไม่เหมาะในการจัดการที่โกดังเพราะจะสิ้นเปลืองค่าจัดเก็บมากกว่าสินค้าขนาดเล็ก เป็นต้น
5.เอาแบบสรุปสั้นๆเลยครับ แล้ว FBA มันเหมาะกับแบบไหน?
==> สินค้าต้องปล่อยได้ง่าย อย่าให้ค้างสต็อคนาน เพื่อลดค่าจัดเก็บ
==> สินค้า เล็ก เบา แพง เพราะเสียค่าส่ง ค่าจัดเก็บที่ถูกและมีกำไรสูง
==> ไม่มีเวลาแพ็คเอง
==> ไม่มีคนคอยตอบหรือคุยกับลูกค้า
คิดว่าถึงตรงนี้ก็น่าจะได้ไอเดียกันไปพอสมควร และควรตอบตัวเองได้แล้วว่าควรทำ FBA ไหม คิดเอาเอง ไม่ต้องให้ใครคิดแทนครับ
รอบหน้าจะเขียนในส่วน FBM ครับ ติดตามให้ดี
หากมีปัญหาเรื่องการรับเงิน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่